วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิชาวิทยาศาสตร์ ม.1

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1
กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ (ว21101) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง หน่วยของชีวิตและชีวิตพืช เวลา 43 ชั่วโมง
แผนจัดการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง เซลล์ของสิ่งมีชีวิต เวลา 2 ชั่วโมง
มาตรฐาน
ว 1.1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
ว 8.1 ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอน สามารถอธิบายและตรวจสอบได้ ภายใต้ข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ เข้าใจว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
1.ตัวชี้วัด
ว 1.1 ม.1/1 สังเกตและอธิบายรูปร่าง ลักษณะของเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและเซลล์ของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
ว 8.1 ม.1/6 สร้างแบบจำลอง หรือรูปแบบ ที่อธิบายผลหรือแสดงผลของการสำรวจตรวจสอบ
2.สาระสำคัญ
เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ลักษณะของเซลล์ชนิดต่างๆ จะมีขนาด รูปร่าง และหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งศึกษาได้โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์และจำแนกเซลล์ตามเกณฑ์ต่างๆ ได้หลายแบบ
3.สาระการเรียนรู้
ศึกษาลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและเซลล์สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
4.จุดประสงค์การเรียนรู้
4.1 นักเรียนสามารถอธิบายลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวได้
4.2 นักเรียนสามารถอธิบายลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ได้
4.3 นักเรียนสามารถเปรียบเทียบลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและเซลล์สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ได้
5.ทักษะกระบวนการเรียนรู้
5.1 ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสังเกต การปฏิบัติการทดลอง กระบวนการกลุ่ม และการสืบค้นข้อมูล
6.คุณลักษณะที่พึงประสงค์
6.1 ใฝ่เรียนรู้
7.กระบวนการจัดการเรียนการสอน การสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Process / 5 E) เทคนิค การใช้แผนที่ความคิด (Mind Map)
8.ภาระงาน/ชิ้นงาน
8.1 การวาดภาพเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และเขียนแผนที่ความคิดความแตกต่างและความเหมือนของลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิต
9.การวัดและการประเมินผล
เกณฑ์การตัดสินโดยรวม (ผ่าน / ไม่ผ่าน)
นักเรียนผ่าน ต้องได้ระดับคุณภาพ 2 ขึ้นไป ในการประเมินความรู้ความเข้าใจ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์
นักเรียนผ่าน ต้องได้ระดับคุณภาพ 3 ขึ้นไป ในการประเมินการนำเสนอผลงาน
10.กิจกรรม
ชั่วโมงที่ 1 - 2
10.1 ขั้นสร้างความสนใจ
10.1.1 ครูให้นักเรียนสังเกตภาพของสิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย อะมีบา พารามีเซียม ยูกลีนา สาหร่าย ปลา เป็นต้น และให้บอกว่าแต่ละภาพที่เห็นน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหรือสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
แนวคำตอบ - สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น แบคทีเรีย อะมีบา พารามีเซียม และยูกลีน่า เป็นต้น
- สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ เช่น สาหร่ายหางกระรอก ปลา เป็นต้น
10.1.2 ให้นักเรียนบอกเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกกลุ่มสิ่งมีชีวิต
แนวคำตอบ - สิ่งมีชีวิต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้จำนวนเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเป็นเกณฑ์
10.1.3 ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้
10.2 ขั้นสำรวจค้นหา
10.2.1 นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน โดยคละเพศและความสามารถ โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำงาน
10.2.2 ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันศึกษาใบความรู้ เรื่องเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และศึกษาตัวอย่างเซลล์ของสิ่งมีชีวิตโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ จากนั้นทำใบงาน เรื่องเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ข้อที่ 1 และข้อที่ 2 และนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงจากใบความรู้ เรื่องเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
10.2.3 นักเรียนแต่ละกลุ่มเสนอผลงาน และร่วมอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้นและครูถึงผลงานของแต่ละกลุ่ม ว่าแต่ละกลุ่มใช้เกณฑ์ใดในการเปรียบเทียบแบ่งกลุ่ม หากคำตอบที่ได้ยังไม่ชัดเจนให้ครูกระตุ้นด้วยคำถามหรือเสนอแนะข้อมูลเพิ่มเติม
10.3 ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป
10.3.1 ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายและสรุปเกี่ยวกับลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
10.4 ขั้นขยายความรู้
10.4.1 ครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า โดยให้นักเรียนยกตัวอย่างเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันของนักเรียน และให้พิจารณาจำแนกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหรือสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ โดยใช้หลักเกณฑ์ในการจัดจำแนกทางวิทยาศาสตร์
10.5 ขั้นประเมิน
10.5.1 นักเรียนได้เรียนเรื่อง เซลล์ของสิ่งมีชีวิต ได้ความรู้ความเข้าใจ อะไรบ้าง ให้สรุปเป็นแผนที่ความคิดอย่างอิสระ (ใบงาน เรื่องเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ข้อที่ 3 )
11. ข้อเสนอแนะ/กิจกรรมเสนอแนะ
นักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันได้ และใช้เป็นพื้นฐานความรู้ในการศึกษาเรื่องเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
12. สื่อ/แหล่งเรียนรู้
12.1 สื่อการเรียนรู้
- ใบความรู้ เรื่อง เซลล์ของสิ่งมีชีวิต
- ใบงาน เรื่อง เซลล์ของสิ่งมีชีวิต
- สไลด์ถาวรของเซลล์สิ่งมีชีวิตตัวอย่าง
12.2 แหล่งเรียนรู้
- ห้องวิทยาศาสตร์

1 ความคิดเห็น: